จังหวัดอ่างทองอีกหนึ่งจังหวัดในประเทศไทย ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยวัดกว่า 200 วัด
ส่วนใหญ่เป็นวัดชื่อดังติดอันดับ และโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่เหมือนวัดในจังหวัดอื่น
ชวนมานมัสการและชม 9 วัดดังจังหวัดอ่างทอง เพื่อเป็นสิริมงคลกันดีกว่า
1. วัดม่วง
สถานที่ประดิษฐาน พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ พระพุทธรูปที่ใหญ่สุดในโลก สูงเท่าตึก 32 ชั้น
ใช้เวลาก่อสร้าง 16 ปี ถัดมาเป็นวิหารแก้ว วิหารที่มีความวิจิตรงดงาม จากการใช้กระจกชิ้นเล็กๆ ประดับตกแต่งทั้งหลัง
ภายในมีพระพุทธรูปเนื้อเงินแท้ประดิษฐานเป็นพระประธาน
ออกจากวิหารแก้วมายังบริเวณสวนจำลองนรก-สวรรค์ จัดแสดงรูปปูนปั้นแดนนรกและสวรรค์ไว้
และยังมีแบบจำลองตัวละครในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง โดยมีป้ายคำสอนเหมาะแก่การพาบุตรหลานมาเที่ยวชม
เพื่อปลูกฝังการทำความดี ละเว้นความชั่ว
การเดินทาง พิกัด 14.594902, 100.380096 จากกรุงเทพ ใช้เส้นทางสายเอเชีย เมื่อเข้าเมืองอ่างทองแล้วจะผ่านตลาด
ให้เลี้ยวขวา เจอทางแยกให้เลี้ยวซ้าย ตามเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ วัดม่วงจะอยู่ทางซ้ายมือ
ให้สังเกตพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางทุ่ง
เครดิตภาพ : busbuddythailand
2. วัดต้นสน
วัดเก่าแก่สำคัญของจังหวัด ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง
ภายในชมความงดงามของสมเด็จพระนะวะโลกุตตะระธัมมะบดีศรีเมืองทอง หรือเรียกว่าสมเด็จพระศรีเมืองทอง
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมารขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลงรักปิดทองทั้งองค์
นอกจากนี้ยังมีโบสถ์ศิลปะอยุธยาสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยา และพระพุทธชินราชจำลอง
ให้ประชาชนได้มาสักการะเสริมสิริมงคล และทำบุญกับวังปลาขนาดใหญ่
การเดินทาง พิกัด 14.5928646, 100.4598457 จากอยุธยาใช้เส้นทางหมายเลข 32 เลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 304
เข้าสู่ตัวเมืองอ่างทอง จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วให้เลี้ยวขวา แล้วให้ตามป้ายบอกทาง
เครดิตภาพ : busbuddythailand
[read more=”อ่านต่อ” less=”ซ่อนบทความ”]
3. วัดราชปักษี
หรือวัดนก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก ภายในมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่
พระพุทธรูปเก่าสมัยอยุธยาคล้ายพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก แต่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย
และยังมีพระรอดวชิรโมลี พระพุทธรูปเก่าแก่ที่สุดประดิษฐานอยู่ด้วย
เดิมมีวิหารไม้ศิลปะสมัยอยุธยาถูกน้ำเซาะจนตลิ่งพังทลายเกือบหมด แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าพระรอดวชิรโมลียังคงตั้งอยู่ได้
จนชาวบ้านได้ร่วมสร้างวิหารใหม่ขึ้นมา วัดนกจึงถูกตั้งชื่อใหม่เป็นวัดราชปักษีดังเช่นปัจจุบัน
การเดินทาง พิกัด 14.550196, 100.448218 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา
เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 52–53 จากอำเภอเมืองอ่างทอง ให้ขับไปทางทิศใต้อีกประมาณ 3 – 4 กิโลเมตร
เครดิตภาพ : busbuddythailand
4. วัดป่าโมกวรวิหาร
ชาวบ้านเรียกว่าวัดใต้ท้ายตลาด เนื่องจากในอดีตบริเวณแห่งนี้เคยมีต้นโมกอยู่จำนวนมาก ภายในประดิษฐานพระนอนพูดได้
พุทธไสยาสน์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 36 องค์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัยตามพงศาวดารเหนือ
ถือเป็นพุทธไสยาสน์ที่มีความงดงามอีกองค์หนึ่งในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีพระวิหารเขียน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยพระเจ้าท้ายสระ
ภายในมีภาพเขียนชาดก ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3-4
การเดินทาง พิกัด14.483178, 100.448580 วัดป่าโมกวรวิหารห่างอำเภอเมืองอ่างทองไป 18 กิโลเมตร
ใช้เส้นทางหมายเลข 309 สายอ่างทอง-อยุธยา เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 40 ให้ไปทางเส้นทางหมายเลข 329
ต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 3501 จากนั้นขับไปตามป้ายบอกทาง
เครดิตภาพ : suvanai.wordpress
5. วัดไชโยวรวิหาร
นิยมเรียกกันว่า วัดไชโย เดิมเป็นวัดราษฏร์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งใด ในอดีตเคยใช้ชื่อว่า วัดเกษไชโย
วิหารจะหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ภายในประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์ หรือหลวงพ่อโต
พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
โดยวัดแห่งนี้มีชื่อเสียงทางด้านพระเครื่องคือ สมเด็จเกศไชโย
การเดินทาง พิกัด 14.717210, 100.437057 จากตัวเมืองอ่างทอง ใช้เส้นทางถนนสายเอเชีย (หมายเลข 32)
ทางไปจังหวัดสิงห์บุรี ก่อนถึงจังหวัดสิงห์บุรีจะมีป้ายบอกทางขับไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
จากนั้นเลี้ยวขวาอีก 100 เมตร จะเห็นทางเข้าวัดทางด้านขวา
เครดิตภาพ : busbuddythailand
6. วัดท่าสุทธาวาส
วัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น เดิมเคยใช้เป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร
ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อยิ้ม พระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิ แต่สิ่งที่ต้องไปชมให้ได้
ก็คือ ภาพจิตกรรมฝาผนังที่งดงามหาชมยาก เป็นเรื่องราวของเกี่ยวกับพระมหาชนกไตรภูมิ และสงครามยุทธหัตถี เป็นต้น
โดยมีภาพผลมะม่วง 4 ผล ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อยู่บนผนังโบสถ์ด้านซ้ายมือด้วย
การเดินทาง พิกัด 14.449843, 100.461291 จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 309 สายอยุธยา-อ่างทอง
ขับไปจนถึงกิโลเมตรที่ 38-39 ทางเข้าวัดจะอยู่ด้านซ้ายมือก่อนถึงจังหวัดอ่างทองประมาณ 17 กิโลเมตร
เครดิตภาพ : busbuddythailand
7. วัดจันทรังษี
วัดแห่งนี้มีพื้นที่สองฝั่งถนน ฝั่งทิศตะวันออกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า หลวงพ่อโยก และฝั่งตะวันตกของถนน
เป็นที่ตั้งของพระมหาวิหารจัตุรมุขพระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 9 เมตร 9 นิ้ว
สร้างด้วยโลหะปิดทองคำทั้งองค์งดงามมาก เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2539 และเมื่อไปถึงอย่าพลาดไปสัมผัสลูกแก้ว
หน้าองค์หลวงพ่อสด เชื่อว่าจะได้รับพร ทำให้สุขภาพแข็งแรง
ภายในวัดมีวิหารจัตุรมุข มีความวิจิตรงดงาม อีกด้านเป็นโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์
ชาวบ้านเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์โยกไปมาได้ จึงนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโยก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยา
การเดินทาง พิกัด 14.563304, 100.467690จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางถนนสายเอเชีย ขับไปจนถึงกิโลเมตรที่ 49
เลี้ยวซ้ายเข้าทางขับไปอีก 3 กิโลเมตร หรือตรงไปจนถึงแยก ให้เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองอ่างทอง
ให้ขับไปตามป้ายบอกทางอีก 1 กิโลเมตร
เครดิตภาพ : สมาชิกลุงเสื้อเขียว จากเว็บไซต์ pantip
8. วัดเขียน
วัดเล็กๆ แต่เดิมถูกปล่อยร้าง เมื่อมีชาวบ้านมาอาศัยมากขึ้นเป็นชุมชน วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชนในเวลาต่อมา
ที่มาของชื่อ วัดเขียน สันนิษฐานว่ามาจากภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลาย
เกี่ยวกับเรื่องราวทศชาติชาดก เชื่อว่าเป็นฝีมือช่างสกุลเมืองวิเศษชัยชาญ คล้ายภาพเขียนของวัดเกาะ
และวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี เปิดให้เข้าชม 2 ช่วงเวลา คือ 09.00 – 10.00 น. และ 13.00 – 15.30 น.
การเดินทาง พิกัด 14.602528, 100.350236 ห่างจากอำเภอเมือง 12 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3454
ขับไปประมาณ 1 กิโลเมตรจากนั้นให้ขับไปตามป้ายบอกทาง
เครดิตภาพ : สมาชิกลุงเสื้อเขียว จากเว็บไซต์ pantip
9. วัดขุนอินทประมูล
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล มีความยาว 50 เมตร
ยาวเป็นอันดับที่ 2 รองจากพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี ภายในบริเวณวัดยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว
ซึ่งเหลือเพียงฐานและผนังบางส่วน และศาลรูปปั้นขุนอินทประมูล ซึ่งขุดค้นพบกระดูกในเขตวิหาร
เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูล ผู้สร้างวัดแห่งนี้
การเดินทาง พิกัด 14.6426237, 100.427737 วัดห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร จากตัวเมืองอ่างทอง
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3064 สายอ่างทอง-อำเภอโพธิ์ทอง เมื่อเจอแยกที่กิโลเมตร 9 ให้เลี้ยวขวา
แล้วขับตรงไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงวัดขุนอินทประมูล
เครดิตภาพ : สมาชิกลุงเสื้อเขียว จากเว็บไซต์ pantip
[/read]
>> ย้อนเวลาพาออเจ้าเที่ยว 6 แลนด์มาร์ก ตามรอยละครบุพเพสันนิวาส
>> ขอพรอุ่นใจไหว้ 8 พระธาตุประจำวันเกิด นครพนม เสริมมงคลชีวิต
>> 9 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บนบานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สำเร็จสมปรารถนา